เขียนแบบเครื่องกลพื้นฐาน (Mechanical Drawing Foundation)
แบบงาน คือภาษาทางวิศวกรรมภาษาหนึ่งที่ผู้ทำงานใช้สื่อสารข้อมูลในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ออกแบบ และผู้ใช้แบบ แบบผลิตภัณฑ์ใช้เป็นการสื่อสารระหว่างองค์กรที่ทำการซื้อขาย ใช้เป็นข้อตกลงด้านคุณสมบัติและคุณภาพผลิตภัณฑ์ แบบสั่งงานยังคงใช้สื่อสารการทำงานภายในองค์กรเพื่อให้ทำงานได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าด้วย การศึกษาการ เขียนแบบเครื่องกลพื้นฐาน จึงมีความสำคัญมากในยุคปัจจุบัน
-
มาตรฐานการเขียนแบบแบบเครื่องกล
-
ขนาดกระดาษ และแบบฟอร์ม
-
สเกลของแบบ
-
เส้นและตัวอักษร
-
เครื่องมือที่ใช้ในการเขียนแบบ
-
สรุป
มาตรฐานการเขียนแบบแบบเครื่องกล
เป็นการกำหนดมาตรฐานที่ใช้เป็นข้อตกลงในการเขียนแบบ อ่านแบบ เพื่อให้การสื่อสารถูกต้องตรงกันระหว่างผู้ออกแบบ และผู้ใช้แบบ ประเทศใหญ่ๆ ที่เป็นผู้นำอุตสาหกรรมจึงมักออกมาตรฐานเป็นของตัวเอง เพื่อใช้สื่อสารในการขยายธุรกิจไปในประเทศอื่นๆ ที่ไปลงทุน
ตัวอย่างมาตรฐานในต่างประเทศ
- อเมริกา American National Standards Institute (ANSI)
- อังกฤษ British Standards Institution (BSI)
- เยอรมัน Deutsches Institute fuer Normung (DIN)
- สหภาพยุโรป European Standards (EN)
- ญี่ปุ่น Japanese Industrial Standards (JIS)
- มาตรฐานสากล International Organization for Standardization (ISO)
มาตรฐานในประเทศไทย คือ มอก. แต่มาตรฐานที่พบส่วนใหญ่คือ มาตรฐานญี่ปุ่น เยอรมัน และมาตรฐานสากล ISO ซึ่งสอดคล้องกับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในประเทศไทย
ขนาดกระดาษ และแบบฟอร์ม
ขนาดกระดาษ
มาตรฐาน DIN476 ได้กำหนดขนาดกระดาษไว้ 7 ขนาด คือ A0, A1, A2, A3, A4, A5, และ A6 การเลือกใช้กระดาษควรพิจารณาการบอกรายละเอียดให้ครบในแบบสั่งงาน
รูปขนาดกระดาษ A0 ; 841 x 1189 mm
- A0 = 841 x 1,189 มิลลิเมตร
- A1= 594 x 841 มิลลิเมตร
- A2= 420 x 594 มิลลิเมตร
- A3= 297 x 420 มิลลิเมตร
- A4= 210 x 297 มิลลิเมตร
- A5= 148 x 210 มิลลิเมตร
- A6= 105 x 148 มิลลิเมตร
แบบฟอร์ม
การเขียนแบบเครื่องกลบนกระดาษขนาดต่างๆ ต้องมีกรอบโครงร่าง(Frame) กรอบชื่อแบบ(Title Block) ใช้กำหนดรายละเอียดของแบบ
1 เส้นกรอบ(Frame)
ใช้กำหนดขอบพื้นที่กระดาษเขียนแบบเครื่องกล โดยเส้นกรอบควรมีความหนาไม่น้อยกว่า 0.5 มิลลิเมตร ระยะห่างระหว่างขอบของกระดาษ และกรอบควรกำหนดให้อยู่ในช่วง 10 – 20 มิลลิเมตร หรือมากกว่ากรณีใช้สำหรับเข้าเล่มในบางด้าน
2 บล็อกชื่อแบบ (Title Block)
ในกรอบบนกระดาษเขียนแบบเครื่องกลต้องสร้างบล็อกสำหรับระบุข้อมูลสำคัญไว้ขวามือด้านล่าง ดังนี้ ชื่อแบบ, หมายเลขแบบ, ชื่อบริษัทหรือองค์กร, ผู้เขียน, ผู้อนุมัติ, วันที่เขียนแบบ, สเกล, และเทคนิคการฉายภาพ เป็นต้น
สเกลของแบบ
สเกล (Scale) คือ สัดส่วนระหว่างขนาดรูปในแบบต่อขนาดจริงของชิ้นงาน การเขียนแบบจากชิ้นงานส่วนมากจะไม่สามารถเขียนเท่าขนาดจริงได้ จากสาเหตุชิ้นงานมีขนาดใหญ่ หรือเล็กเกินไป ต้องการแสดงรายละเอียดชิ้นงานจึงต้องขยายรูปเพื่ออธิบาย เพื่อให้ง่ายต่อการอ่านแบบ ตัวเลขในแบบจึงใช้ตัวเลขขนาดจริงในการบอกขนาดเสมอ และกำหนดสเกลที่เป็นอัตราส่วนของรูปในแบบกับชิ้นงานในกรอปชื่อแบบแทน
หลักในการใส่สเกล
- ใส่สเกลหลักเพียงอย่างเดียวใน กรอบชื่อแบบ(Title Block)
- กรณีมีสเกลอื่นในแบบให้กำหนดสเกลเฉพาะรูปนั้นในแบบเครื่องกล เช่นบริเวณภาพตัดที่มีการขยายมากกว่าสเกลหลัก เป็นต้น
การแสดงสเกล
- ขนาดสเกลจริง 1:1 เป็นการแสดงขนาดรูปในแบบเท่ากับชิ้นงาน
- ขนาดสเกลขยาย 2:1 เป็นการแสดงขนาดรูปในแบบใหญ่กว่าชิ้นงานหนึ่งเท่า
- ขนาดสเกลย่อ 1:2 เป็นการแสดงขนาดรูปในแบบเล็กกว่าชิ้นงานหนึ่งเท่า
สเกลแนะนำ (JIS B 0001-2000)
- ขนาดสเกลจริง คือ 1:1 กำหนดได้แบบเดียว
- ขนาดสเกลขยาย 2:1, 5:1, 10:1, 20:1, 50:1
- ขนาดสเกลย่อ 1:2, 1:5, 1:10, 1:20, 1:50, 1:100, 1:200, 1:500, 1:1000, 1:2000, 1:5000, 1:10000
เส้นและตัวอักษร
ความแตกต่างของเส้นแต่ละชนิดมีความจำเป็นต่อการสื่อสารของแบบเครื่องกลเป็นอย่างมาก การใช้เส้นผิดในบางกรณีอาจทำให้ผู้ใช้แบบสับสน และปฏิบัติตามไม่ตรงกับผู้ออกแบบ
ความหนาของเส้น
ความหนาของเส้นอาจแบ่งได้ 3 ชนิด คือ เส้นบาง เส้นหนา และเส้นหนาพิเศษ โดยมีอัตราส่วนความหนาเป็น 1 : 2 : 4 เช่น ใช้ความหนา 0.13 : 0.25 : 0.50 มิลลิเมตร
การใช้งานของเส้นในการเขียนแบบ
- เส้นเต็มบาง ใช้เป็นเส้นกำหนดขนาด, ชี้เพื่ออธิบายรายละเอียด, เส้นเส้นแสดงลายตัดของพื้นที่
- เส้นเต็มหนา ใช้เป็นเส้นขอบรูปชิ้นงานที่มองเห็น แนวเชื่อม
- เส้นประหนา ใช้เป็นเส้นขอบรูปชิ้นงานที่มองไม่เห็น เส้นขอบวัตถุโปร่งใส
- เส้นศูนย์กลางบาง ใช้เป็นเส้นบอกศูนย์กลางของชิ้นงาน คำสั่งเพิ่มเติม
- เส้นศูนย์กลางหนา ใช้เป็นเส้นแสดงแนวตัด เขตการทำงานพิเศษเช่น ชุบแข็ง ขัดมัน
- เส้นมือเปล่า ใช้เป็นเส้นรอยตัดย่น หรือรอยตัดแตก
ตัวอักษร
ข้อมูลที่สำคัญของแบบเครื่องกลส่วนใหญ่คือตัวอักษรที่กำหนดค่าต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ไว้ในแบบที่ทำการสื่อสารการกำหนดค่าหรือขนาดต่างๆ ดังนั้นตัวอักษรจึงต้องกำหนดให้มีมาตรฐานที่ทำให้อ่านได้ชัดเจน มาตรฐาน ISO กำหนดให้อักษรมีความสูงอักษรตัวใหญ่ 2.5, 3.5, 5, 7, 10, 14, 20 และอักษรตัวเล็ก (7/10)คูณกับความสูงตัวอักษร และช่องว่างระหว่างอักษร 0.1คูณกับความสูงตัวอักษร ช่องเว้นวรรค 0.6คูณกับความสูงตัวอักษร กรณีอักษรเอียงกำหนดไว้ 15 องศา
เครื่องมือที่ใช้ในการเขียนแบบ
การเขียนแบบในอดีตต้องใช้การเขียนแบบด้วยมือ จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยอย่างมากจึงจะได้แบบที่มีขนาดและสเกลที่ถูกต้อง แต่ในปัจจุบันมีการใช้คอมพิวเตอร์ในการเขียนแบบเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสะดวกและรวดเร็วกว่ามาก
อุปกรณ์เขียนแบบด้วยมือ
อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในการเขียนแบบด้วยมือ ได้แก่ โต๊ะเขียนแบบ ไม้บรรทัด วงเวียน สเกล บรรทัดองศา แผ่นเทมเพลตสำหรับเขียนรูปทรงมาตรฐาน แผ่นกันลบ แปรงปัดฝุ่น เป็นต้น
อุปกรณ์เขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์
การเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์ (CAD ; Computer Aided Design) อุปกรณ์ที่ใช้ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการเขียนแบบซึ่งในปัจจุบันมีอยู่หลายบริษัทให้บริการ
สรุป
การศึกษาการ เขียนแบบเครื่องกลพื้นฐาน มีความสำคัญมากสำหรับการเขียนแบบเครื่องกล และผู้ใช้แบบที่ต้องทำความเข้าใจเพื่อการสื่อสารที่ไม่มีข้อผิดพลาด เช่นมาตรฐานการเขียนแบบ เส้นและตัวอักษร สเกลของแบบ แบบฟอร์ม ขนาดกระดาษ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการเขียนแบบ ที่ต้องเข้าใจและใช้ได้อย่างชำนาญเหมือนภาษาพูดที่ใช้สื่อสาร ก็จะสามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง
https://en.wikipedia.org/wiki/Mechanical_systems_drawing#Assembly_drawing